ประเทศไทย

ระวัง! ผีการเมือง

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551

วิปรัฐบาลล็อบบี้ถอน กม.จัดการกลุ่มชุมนุม


ที่รัฐสภา นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวก่อนเข้าประชุมวิปรัฐบาล เพื่อทบทวนร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ ก่อนเข้าสู่วาระการพิจารณาในที่ประชุมสภาว่า ได้เชิญนายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชาชน ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวว่าจะเลื่อนออกไปก่อนได้หรือไม่ เพราะทางวิปรัฐบาลยังไม่เห็นรายละเอียด แต่การจะถอนร่างกฎหมายหรือไม่เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. การพิจารณาของวิปรัฐบาลจะต้องฟังกระแสและเสียงสะท้อนจากสังคมด้วย ส่วนการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 50 นั้น ยืนยันว่าฝ่ายรัฐบาลจะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หลังวันที่ 18 ส.ค.นี้ หลังคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 พิจารณาเสร็จ คาดว่าจะแก้ไขเสร็จภายในสมัยประชุมนี้แน่นอน เพราะแก้เฉพาะประเด็นที่ความคิดตกผลึกไม่มีปัญหาไปก่อน ส่วนประเด็นไหนมีปัญหาต้องศึกษาต่อ โดยตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาสนทนากันให้หลากหลาย ให้ สังคมตกผลึกทางความคิดก่อน เพราะหากรอแก้ไขหมดทั้งฉบับก็คงไม่ได้แก้ไข ส่วนที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน มีแนวคิดว่าน่าจะทำไปพร้อมกัน แต่ถ้าทำไปพร้อมกัน ประเด็นไหนที่ง่ายก็จะพลอยติดไปด้วย ไม่ได้รับการแก้ไข

ชี้รัฐบาลเข้าตำราเกลียดตัวกินไข่
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการ ชุมนุมในที่สาธารณะว่า อยากฟังความเห็นของรัฐบาลต่อกรณีดังกล่าว แต่ที่น่าสังเกตคือรัฐบาลมีท่าทีรังเกียจรัฐธรรมนูญ 2550 มาโดยตลอด ที่กลับอาศัยมาตรา 63 เพื่อให้รองรับการออกร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุม เหมือนกับว่ารัฐบาลเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง ชัดเจนว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการสกัดการชุมนุม และการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนกรณีที่นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานวิปรัฐบาล จะยื่นแก้ รัฐธรรมนูญหลังวันที่ 18 ส.ค. โดยไม่รอผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในฐานะ กมธ.ชุดดังกล่าว ไม่รู้สึกแปลกใจอะไร เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าเป้าหมายของรัฐบาล คือเร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะแก้มาตราที่เกี่ยวข้องกับคดีการทุจริตสมัยรัฐบาลทักษิณ โดยตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้น เพื่อลดกระแสการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตนเองเท่านั้น ทั้งนี้ต้องขยายเวลาศึกษารัฐธรรมนูญแน่นอน โดยส่วนตัวคิดว่าเบื้องต้นควรจะขยายเวลา 30 วัน เนื่องจากคณะอนุ กรรมาธิการชุดที่ 3 ซึ่งศึกษาในหมวดที่ 3 เรื่องที่เกี่ยวกับรัฐมนตรี รัฐสภาและศาลยังศึกษาไม่เสร็จ